หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา
หม่อม สุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา | |
---|---|
หม่อมสุ่นใน พ.ศ. 2493 ขณะอายุได้ 28 ปี[1] | |
เกิด | 13 สิงหาคม พ.ศ. 2402 ตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร |
เสียชีวิต | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 (89 ปี) ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร |
คู่สมรส | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พ.ศ. 2416–2453) |
บุตร | 5 องค์ |
บิดามารดา |
|
หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา (13 สิงหาคม พ.ศ. 2402 – 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2492) เป็นหม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และเป็นพระอัยยิกาฝ่ายพระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ประวัติ
[แก้]หม่อมสุ่น เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2402 ที่ตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร เป็นธิดาของกิม พ่อค้าผ้าลายและผ้าแพร กับมารดาชื่อเต่า[2] หม่อมสุ่นเป็นสตรีผู้ประกอบด้วยรูปสมบัติ กล่าวกันว่าเมื่อยังสาวท่านเป็นสตรีผู้งดงาม ด้วยมีผิวขาวดั่งงาช้าง ดวงหน้าก็งามดั่งรูปปั้น มีลูกหลานของท่านชื่นชมความงามของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งเป็นทายาทของหม่อมสุ่น กระนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ก็ทรงเห็นด้วยแล้วตรัสว่า "ถึงอย่างนั้น ยังไม่ถึงหญิงอาภาฯ และหญิงอาภาฯ ก็ยังไม่ถึงหม่อมสุ่น"[3] และถาวร สิกขโกศล นักเขียนอิสระ ได้ยกย่องให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระชนนีของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ให้เป็นหนึ่งในสี่ยอดพธูของประวัติศาสตร์ไทย[4]
หม่อมสุ่นถวายตัวเป็นนางห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เมื่อ พ.ศ. 2416 ขณะมีอายุได้ 14 ปี ทั้งสองมีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน 5 องค์ คือ[2]
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี (28 มีนาคม พ.ศ. 2417 – 6 สิงหาคม พ.ศ. 2481) เสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน 9 องค์ หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
- หม่อมเจ้ากลาง คัคณางค์ (พ.ศ. 2418–2424)
- หม่อมเจ้าฉวีวิลัย สวัสดิวัตน์ (29 มีนาคม พ.ศ. 2424 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473) เสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน 11 องค์
- หม่อมเจ้าน้อย คัคณางค์ (พ.ศ. 2427 – 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428)
- หม่อมเจ้าปรีดียากร คัคณางค์ (พ.ศ. 2432 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2453) เสกสมรสกับหม่อมวาด คัคณางค์ ณ อยุธยา มีพระธิดาด้วยกันสองคน
หลังถวายตัวเข้าเป็นนางห้ามแล้ว ก็ได้ปรนนิบัติรับใช้สามีเป็นอย่างดี อีกทั้งยังตามเสด็จกรมหลวงพิชิตปรีชากรไปปฏิบัติราชการในมณฑลพายัพและมณฑลอีสานด้วยความยากลำบาก และใน พ.ศ. 2436 อันเป็นช่วงเวลาที่สยามมีปัญหากระทบกระทั่งกับฝรั่งเศส หม่อมสุ่นทำหน้าที่จัดเตรียมเสบียงและยาส่งให้ทหาร[5]
ครั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรสิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ. 2453 ไม่กี่เดือนถัดมาหม่อมเจ้าปรีดียากร บุตรชายเพียงคนเดียวก็สิ้นชีพิตักษัย หม่อมสุ่นสงสารหลานสาวทั้งสองคนที่กำพร้าพระบิดาตั้งแต่ยังเยาว์ จึงรับอุปการะท่านผู้หญิงรสลิน คัคณางค์ และหม่อมราชวงศ์รสมาลี เกษมสันต์ อย่างใกล้ชิด[3]
ในช่วงบั้นปลาย หม่อมสุ่นป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและหัวใจโตเมื่ออายุได้ 80 ปี ครั้นอายุได้ 88 ปี ท่านจึงยอมให้แพทย์ทำการรักษาอย่างแผนปัจจุบัน กระทั่งหม่อมสุ่นถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อเวลา 01.07 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ณ บ้านถนนประมวญ และได้รับพระราชทานโกศเพื่อเป็นเกียรติในงานพระราชทานเพลิงศพ[6]
การทำงาน
[แก้]เมื่อมีการตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น เพื่อช่วยรักษาพยาบาล จัดเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์สำหรับอุปโภค-บริโภคแก่ทหาร หม่อมสุ่นได้รับมอบหมายให้นำเวชภัณฑ์เหล่านี้ไปแจกจ่ายแก่ทหารในเมืองนครจัมปาศักดิ์ และหลังจากนั้นหม่อมสุ่นก็ยังอุปการะสภาอุณาโลมแดงมาตลอดชีวิตของท่าน[5] นอกจากนี้หม่อมสุ่นมักทำบุญแก่คนหมู่มากโดยไม่เลือก และหวังสิ่งตอบแทน เช่น การบริจาคเงินบำรุงวัด บำรุงโรงพยาบาล อุปถัมภ์พระสงฆ์สามเณรด้วยปัจจัย เพื่อให้สะดวกต่อการประพฤติพรหมจรรย์ให้ได้กำลังในการเล่าเรียนศึกษา เป็นต้น[7] โดยหม่อมสุ่นอุปภัมภ์องค์กรต่าง ๆ ไว้ เท่าที่ปรากฏในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน ได้แก่[5]
- เงินทุนบำรุงเตียงคนไข้อนาถา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 1 เตียง
- ทุน "คัคณางค์ ณ อยุธยา" สำหรับเก็บดอกผลบำรุงคนไข้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- สุขศาลา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี
- สะพานและอุปกรณ์ประจำห้องคนไข้พิเศษ 1 ในโรงพยาบาลของสมาคมปราบวัณโรค
- บริจาคที่ดินวัดพิชิตปิตยาราม อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
- บริจาคที่ดินวัดสุนทรพิชิตาราม อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
- บ่อน้ำสาธารณะจังหวัดลพบุรี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2470 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายใน)[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. เรื่องคติของฝรั่งเข้ามาเมืองไทย. พระนคร : ฉัตรา, 2493, หน้า ก
- ↑ 2.0 2.1 รสลิน คัคณางค์, หม่อมราชวงศ์ (2493). ประชุมพระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระองค์เจ้าคัคณางค์ยุคล). พระนคร: ตรีรณสาร. p. ข.
- ↑ 3.0 3.1 รสลิน คัคณางค์, หม่อมราชวงศ์ (2493). ประชุมพระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระองค์เจ้าคัคณางค์ยุคล). พระนคร: ตรีรณสาร. p. ค.
- ↑ "4 ยอดหญิงงามในประวัติศาสตร์ไทย มีสตรีท่านใดบ้างขึ้นทำเนียบ". ศิลปวัฒนธรรม. 14 กันยายน 2566. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 5.0 5.1 5.2 รสลิน คัคณางค์, หม่อมราชวงศ์ (2493). ประชุมพระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระองค์เจ้าคัคณางค์ยุคล). พระนคร: ตรีรณสาร. p. ฆ–จ.
- ↑ รสลิน คัคณางค์, หม่อมราชวงศ์ (2493). ประชุมพระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระองค์เจ้าคัคณางค์ยุคล). พระนคร: ตรีรณสาร. p. ฉ.
- ↑ รำไพรรณี พระบรมราชินี, สมเด็จพระนางเจ้า. เทศนา. พระนคร : ตีรณสาร, 2493, หน้า 11
- ↑ "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 44 (0ง): 2567. 20 พฤศจิกายน 2470. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-23. สืบค้นเมื่อ 2015-07-08.